ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (อังกฤษ: Diana, Princess of Wales) มีพระนามเต็มว่า ไดอานา ฟรานเซส (สกุลเดิม สเปนเซอร์; ประสูติ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 ที่เมืองแซนดริงแฮม ประเทศอังกฤษ — สิ้นพระชนม์ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส) เป็นพระชายาพระองค์แรกของเจ้าชายชาลส์แห่งเวลส์ จากการอภิเษกสมรสเมื่อปี พ.ศ. 2524 และได้หย่าร้างเมื่อปี พ.ศ. 2539 พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเจ้าหญิงแห่งเวลส์ เป็นพระองค์ที่ 9 ของอังกฤษ สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปนิยมขนานพระนามว่า "เจ้าหญิงไดอานา" ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วพระนามนี้ถือว่าผิดในทางทฤษฎี[ต้องการอ้างอิง]
ไดอานากลายเป็นสมาชิกราชวงศ์จากการอภิเษกสมรสกับเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ เมื่อ 29 กรกฎาคม 2524 พระราชพิธีอภิเษกสมรสจัดขึ้นที่มหาวิหารเซนต์พอล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไปทั่วโลก[ต้องการอ้างอิง] ไม่กี่ปีต่อมาไดอานาได้ให้กำเนิดพระโอรสทั้งสองพระองค์คือ เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี รัชทายาทลำดับที่สองและสี่แห่งราชบัลลังก์อังกฤษและ 16 เครือจักรภพ นับแต่ปี พ.ศ. 2524 ที่เธอยังเพียงพระคู่หมั้นของเจ้าชายแห่งเวลส์ ไดอานาก็ได้กลายเป็นสตรีผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของโลก จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2540 พระกรณียกิจและชีวิตส่วนพระองค์ล้วนแต่ได้รับความสนใจจากทั่วทุกมุมโลก อีกทั้งยังทรงเป็นผู้นำแฟชั่น เป็นสัญลักษณ์แห่งความงาม ความหวังของผู้ป่วยโรคเอดส์ แต่เหนือกว่าสิ่งอื่นใดคือพระองค์เป็นพระราชินีในดวงใจของประชาชนอีกด้วย
ยุคปลายศตวรรษที่ 20 นอกจากเป็นที่จดจำในฐานะพระชายาองค์แรกของเจ้าชายแห่งเวลส์แล้ว ไดอานากลายเป็นที่จดจำในสังคมโลกจากการแต่งกาย แฟชั่น งานด้านการกุศลและเป็นบุคคลสาธารณะ พระองค์เคยรณรงค์การต่อต้านการใช้กับระเบิด และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของโรงพยาบาลเด็ก เกรท ออร์มันด์ สตรีทระหว่างปี 2532 ถึง 2538
ไดอานา ฟรานเซส สเปนเซอร์ เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 เวลา 18.39 น. ที่ปาร์กเฮ้าส์ เมืองแซนดริงแฮม มณฑลนอร์ฟอล์ก เป็นธิดาคนเล็กของจอห์น สเปนเซอร์ ไวสเคานท์อัลธอร์พ (เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 8 ในเวลาต่อมา) กับภรรยาคนแรก ฟรานเซส เบิร์ก ร็อฌ (ต่อมาเป็น นางฟรานเซส ชานด์ คีดด์) บิดาของไดอานาสืบเชื้อสายมาจากดยุกแห่งมอลเบอระที่ 1 มารดาของไดอานามีเชื้อสายระหว่างอังกฤษกับไอริช เป็นลูกสาวของบารอนเฟอร์มอยที่ 4 กับเลดี้รูธ ซิลเวีย กิล นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ โบวส์-ลีออนส์
ไดอานารับศีลล้างบาปที่โบสถ์เซนต์มารีแมกดาลีน โดยสาธุคุณเพอร์ซี่ เฮอร์เบิร์ต เป็นผู้ทำพิธี (เจ้าอาวาสและอดีติชอปแห่งนอร์วิชและแบล็กเบิร์น) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2504 และได้ จอห์น ฟลอยด์ (ประธานบริษัทประมูลคริสตี้ส์) เป็นพ่อทูนหัว
ราวปี พ.ศ. 2512 ขณะที่ไดอานามีอายุได้เพียง 8 ขวบ พ่อแม่ของเธอได้หย่าร้างกันหลังจากความสัมพันธ์ที่เลวร้ายมานานหลายปี จากการที่ฟรานเซสพบรักใหม่กับชายที่แต่งงานแล้ว ต่อมาไดอานาและจอห์นได้ย้ายไปอยู่ในอพาร์ตเมนต์ของแม่ ซึ่งตั้งอยู่ย่านไนท์บริดจ์ กรุงลอนดอน และได้เข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลในย่านเดียวกันนั้น ทว่า จอห์น พ่อของไดอานา ยื่นฟ้องขอสิทธิเลี้ยงดูบุตรกับภรรยา และศาลตัดสินให้เขาชนะคดี เนื่องจากบารอนเนสเฟอร์มอย ยายของไดอานา กล่าวในศาลว่าฟรานเซสประพฤติตัวไม่เหมาะสมกับการเป็นแม่ ฟรานเซสได้แต่งงานใหม่ทันทีหลังการหย่าร้าง เธอย้ายไปอยู่ที่เกาะเซล สก็อตแลนด์ตะวันตก แต่ไดอานาและพี่น้องได้ไปพบหน้าแม่อยู่สม่ำเสมอ แม้ว่าพ่อได้สิทธิเลี้ยงดูบุตรทั้ง 4 คน แต่พ่อแทบจะไม่เวลาให้ลูก เพราะยุ่งกับการทำงาน
จอห์นสานสัมพันธ์รักครั้งใหม่กับ เรน เคานต์เตสแห่งดาร์มัธ ซึ่งเธอเคยแต่งงานแล้ว เป็นลูกสาวของอเล็กซานเดอร์ แม็กควอเดลกับบาร์บารา คาร์ตแลนด์ (นักเขียนนวนิยายโรแมนติกที่ไดอานาชื่นชอบ) เขาขอเธอแต่งงานหลังจากหย่าขาดกับสามีคนเก่าได้ไม่นานนัก การแต่งงานครั้งที่สองของพ่อและแม่ของไดอานานี้ ทั้งสองไม่มีบุตรกับคู่สมรสคนใหม่ แต่ว่าความสัมพันธ์ในบ้านระหว่างลูกๆ กับพ่อเลี้ยงและแม่เลี้ยงกลับไม่ราบรื่น
ไดอานาเข้าเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนซิลฟิลด์ ในเมืองคิงส์-ลีนน์ มณฑลนอร์ฟอล์ก ต่อมาย้ายมาเรียนที่โรงเรียนริดเดิ้ลสเวิร์ธ ที่นอร์ฟอล์ก เรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนสตรีเวสต์ฮีธ (ปัจจุบันคือ โรงเรียนนิวสกูลแห่งเวสต์ฮีธ) ในเมืองเซเว่นโอ๊กส์ มณฑลเคนท์ เธอมีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะสอบไม่ผ่านการสอบวัดผล O-levels ถึงสองครั้ง เธอชอบวิชาสังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และเล่นกีฬา เธอมีนิสัยขี้อายและยังไม่ชอบตกเป็นจุดสนใจ ไม่ร่วมตอบคำถามในชั้นเรียน ครั้งหนึ่งในการแสดงละครเวทีของโรงเรียน ไดอานาได้บทตุ๊กตาดัชท์ที่ไม่ต้องพูดอะไรเลย ไดอานาลาออกจากโรงเรียนเวสต์ฮีธเมื่ออายุ 16 ปี เธอได้รับรางวัลจากโรงเรียนในฐานะเป็นนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ดีเด่น ซึ่งทำให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ไดอานาตามซาราห์พี่สาวคนโตไปเรียนต่อที่โรงเรียนวิชาการเรือนแอ็งสติตู-อัลแป็ง-วีเดมาแน็ต ในเมืองรูฌมองต์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่เรียนได้เพียงสามเดือนก็ขอกลับบ้าน เพราะโรงเรียนบังคับให้พูดเฉพาะภาษาฝรั่งเศสที่เธอไม่ชอบ และเธอมักออกไปเล่นแต่สกี[ต้องการอ้างอิง] ช่วงนี้ไดอานาได้พบกับพระสวามีในอนาคตของเธอครั้งแรก ซึ่งขณะนั้นซาราห์กำลังออกเดตเจ้าชายชาลส์
แม้จะเรียนไม่เก่ง แต่ไดอานาโดดเด่นในเรื่องกีฬาเช่น ว่ายน้ำและดำน้ำ และยังเคยเรียนบัลเลต์ แต่ด้วยความสูงของเธอที่ 173 ซม. ทำครูสอนบัลเลต์เห็นว่าสูงเกินไป จึงทำให้เธอต้องเลิกเรียนไปโดยปริยาย ก่อนอายุได้ 17 ปี เธอกลับไปอยู่ที่แฟลตของแม่ในลอนดอน โดยแต่ก็เหมือนอยู่คนเดียว เพราะแม่มักจะอาศัยอยู่ในสก็อตแลนด์ ในวันเกิดอายุครบ 18 ปี ไดอานาได้รับของขวัญวันเกิดเป็นอพาร์ตเมนต์ย่านเอิร์ลคอร์ท ลอนดอน จากพ่อแม่ และไดอานาได้อยู่ที่อพาร์ตเมนต์นี้ร่วมกับเพื่อน 3 คน จนอายุ 20 ปี
ไดอานาลงเรียนวิชาทำอาหารหลักสูตรพิเศษกับเอลิซาเบธ รัสเซล ตามที่แม่แนะนำ ซึ่งไดอานาไม่ชอบใจนักเพราะไม่มีทักษะด้านการครัว เธอเคยทำงานเป็นครูสอนเต้นรำ แต่พลาดหกล้มในระหว่างเล่นสกีที่ฝรั่งเศส จนต้องเข้าเฝือกนาน 3 เดือน และไม่ได้เป็นสอนเต้นรำอีกเลย ต่อมาเธอได้ไปสมัครงานกับโรงเรียนอนุบาล ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าอยากทำงานกับเด็กเล็ก และได้ทำงานที่นี่สมความตั้งใจ นอกเหนือจากงานประจำแล้ว พี่สาวและเพื่อนของเธอยังจ้างไดอานาทำความสะอาดบ้านด้วยค่าจ้างชั่วโมงละ 1 ปอนด์ แต่เธอก็พึงพอใจกับรายได้นี้ และรับจ้างในปาร์ตี้ มีทำหน้าที่บริการอาหาร เครื่องดื่มและทำความสะอาด นอกจากนี้เธอยังเคยรับเป็นพี่เลี้ยงเด็กให้กับครอบครัวชาวอเมริกันครอบครัวหนึ่งในลอนดอนด้วย
ในช่วงแรกพบกันนั้น เจ้าชายชาลส์กำลังทรงคบหาดูใจกับซาราห์ พี่สาวคนโตของไดอานา ตอนนั้นซาราห์เคยถูกจับตามองว่าจะได้เป็นเจ้าสาวของพระองค์อย่างแน่นอน ในเวลานั้นเจ้าชายมีพระชนมายุเกือบ 30 ชันษาและทรงถูกกดดันให้รีบอภิเษกสมรสภายใต้กฎที่ว่า จะต้องเสกสมรสกับหญิงพรหมจรรย์ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์เท่านั้น หากทรงเสกสมรสกับสตรีที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิก พระองค์จะถูกหมดสิทธิ์ในราชบัลลังก์ทันที
ทว่า บารอนเนสเฟอร์มอยกลับเห็นว่าไดอานาเหมาะสมกับเจ้าชายที่สุด เพราะยังไม่เคยคบหากับชายใดมาก่อน อีกทั้งยังสืบเชื้อสายจากตระกูลขุนนาง จึงทำให้บารอนเนสเห็นว่าไดอานานั้นเพียบพร้อมด้วยวงศ์ตระกูลและความบริสุทธิ์ เป็นหญิงเดียวที่คู่ควรกับเจ้าชายชาลส์
เจ้าชายชาลส์รู้จักไดอานามานานหลายปี เพราะซาราห์ชวนไดอานาไปชมการล่าสัตว์และแข่งโปโลกับเจ้าชายอยู่เป็นประจำ แต่หลังจากที่พระองค์เลิกรากับซาราห์แล้ว ทรงหันมาสนพระทัยไดอานาอย่างจริงจังในฤดูร้อนปี 2523 ซึ่งไดอานามาชมเจ้าชายรวมการแข่งขันโปโลและมีโอกาสพูดคุยกันอย่างสนุกสนานที่งานปาร์ตี้ ความสัมพันธ์เริ่มใกล้ชิดมากขึ้น เมื่อได้เธอได้รับคำเชิญจากเจ้าชายให้ไปร่วมโดยสารเรือยอชท์หลวงบริทาเนียในงานแข่งเรือใบ ตามมาด้วยบัตรเชิญเข้าเฝ้าที่พระตำหนักบัลมอรัลในสก็อตแลนด์ ซึ่งที่นั่นได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2, เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินเบอระ และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ และความสัมพันธ์ระหว่างไดอานากับเจ้าชายชาลส์ก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นความรัก เมื่อในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2524 เจ้าชายขอเสกสมรสกับไดอานาและเธอตอบตกลง แต่เรื่องถูกปิดเป็นความลับจากสื่อมวลชนเนานหลายสัปดาห์
24 กุมภาพันธ์ 2524 สำนักพระราชวังบักกิ้งแฮมประกาศพิธีหมั้นอย่างเป็นทางการของเจ้าชายชาลส์กับเลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ ไดอานาเลือกแหวนแพลทินัมแซฟไฟร์เม็ดใหญ่ล้อมเพชร 14 เม็ด มูลค่า 30,000 ปอนด์ (มูลค่าในปัจจุบันนี้ 85,000 ปอนด์)[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับแหวนของฟรานเซส แม่ของไดอานา และห้างการ์ราร์ด เป็นผู้ขึ้นตัวเรือนแหวนวงนี้ แต่สมาชิกราชวงศ์หลายพระองค์ต่างไม่โปรดปรานเครื่องเพชรจากการ์ราร์ดและต่างเห็นว่า แหวนแซฟไฟร์ล้อมเพชรของไดอานาไม่ได้ออกแบบเฉพาะให้เธอผู้เดียว เนื่องจากแหวนแซฟไฟร์ลักษณะคล้ายกันนี้อยู่ในคอลเลคชั่นอื่นๆ การ์ราร์ดด้วย ในปี 2554 แหวนแซฟไฟร์วงนี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นแหวนหมั้นของเคท มิดเดิลตัน พระคู่หมั้นของเจ้าชายวิลเลียม โอรสองค์ใหญ่ของไดอานา[ต้องการอ้างอิง]
พระราชพิธีอภิเษกสมรสถูกจัดขึ้นในเช้าวันที่ 29 กรกฎาคม 2524 สาเหตุที่เลือกมหาวิหารเซนต์พอลแทนที่จะเป็นวิหารเวสต์มินสเตอร์ เนื่องจากสามารถจุผู้เข้าร่วมพระราชพิธีได้มากกว่า และวิหารแห่งนี้ถูกนิยมใช้เป็นที่ประกอบพิธีเสกสมรสของพระราชวงศ์มายาวนาน พระราชพิธีถูกถ่ายทอดสดมีผู้รับชมทั่วโลกมากกว่า 750 ล้านคนในวันนั้น ไดอานาได้รับการสถาปนาจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ให้ดำรงอิสริยศเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ในขณะที่มีอายุ 20 ปี และทำให้เธอกลายเป็นหญิงสามัญชนคนแรกในรอบหลายศตวรรษที่สมรสกับรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ
ประชาชนราว 600,000 คนบนบาทวิถี[ต้องการอ้างอิง]ต่างตั้งตารอคอยช่วงเวลาที่ไดอานาโดยสารรถม้าเพื่อมุ่งหน้าสู่สถานที่ประกอบพิธี ณ แท่นบูชาในมหาวิหาร ระหว่างทำพิธีไดอานาได้ขานพระนามของเจ้าชายชาลส์สลับตำแหน่งกันโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยพูดว่า "Philip Charles Arthur George" แทน "Charles Phillip ..." และไม่ได้สาบานต่อหน้าบาทหลวงว่า "จะอยู่ในโอวาทของพระสวามี"[ต้องการอ้างอิง] คำสาบานตามธรรมเนียมนี้ถูกตัดออกไปจากพิธีตามคำร้องขอจากคู่บ่าวสาว ซึ่งสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนั้นพอควร ไดอานาสวมชุดเจ้าสาวสีขาวราคา 9,000 ปอนด์ ชายกระโปรงยาว 8 เมตร ผลงานการตัดเย็บของเดวิดและเอลิซาเบธ เอ็มมานูเอล ส่วนเค้กแต่งงานสั่งทำกับเชฟแพสทรีชาวเบลเยียม แอส. ชี. ซองแดร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม คนอบเค้กสำหรับพระราชา
5 พฤศจิกายน 2524 สำนักพระราชวังบักกิ้งแฮมออกแถลงการณ์เรื่องการตั้งพระครรภ์ของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ และไดอานาให้สัมภาษณ์เรื่องพระโอรสพระองค์แรงกับสื่อมวลชนหลายแขนง วันที่ 21 มิถุนายน 2525 ไดอานามีพระประสูติกาลพระโอรสและรัชทายาทองค์แรก พระนามว่า เจ้าชายวิลเลียม ที่โรงพยาบาลเซนต์แมรี-แพดดิงตัน 1 ปีต่อมาเจ้าชายชาลส์และเจ้าหญิงไดอานาเสด็จเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ พร้อมกับเจ้าชายวิลเลียมซึ่งยังทรงพระเยาว์มาก หมายกำหนดการเสด็จเยือนยาวนานกว่า 6 สัปดาห์ การที่ไดอานาพาพระโอรสที่ยังเยาว์วัยมากร่วมการเดินทางในครั้งนี้ทำให้พระองค์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ถูกต้องตามราชประเพณี แต่สาเหตุในครั้งนี้เกิดจากคำทูลเชิญทั้งสามพระองค์จากนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ในระหว่างเดินทาง ไดอานาให้พระโอรสร่วมเครื่องบินลำเดียวกันกับพระบิดา ซึ่งเสี่ยงสูญเสียหากเกิดอุบัติเหตุ
พระโอรสองค์ที่สองมีประสูติกาลในวันที่ 15 กันยายน 2527 และมีพระนามว่า เจ้าชายเฮนรี่ และการทรงพระครรภ์ครั้งนี้ พระองค์ไม่ได้แจ้งผู้ใดรับรู้เพศของพระกุมาร
ลูกๆ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของไดอานา พระองค์รักพระโอรสมากและฝ่าฝืนธรรมเนียมของราชสำนักที่จะต้องจ้างแม่นมหรือพี่เลี้ยง ทรงเลือกที่จะเลี้ยงดูพระโอรสทั้งสองด้วยตัวเองเช่นสามัญชน และเลือกพระนามแรกให้พระโอรสด้วยพระองค์เอง รวมทั้งเลือกโรงเรียนและเสี้อผ้า วางแผนให้พระโอรสออกไปเที่ยว พระองค์พยายามจัดสรรเวลาไปรับไปส่งเจ้าชายที่โรงเรียน และ 'ลูก' ต้องมาก่อนพระกรณียกิจประจำวัน นับแต่วันแรกของการเป็นแม่จวบจนกระทั่งสิ้นพระชนม์
ไดอานานอกจากจะมีพระโอรส 2 พระองค์แล้ว ยังทรงมีลูกทูนหัว (godchildren) อีกเป็นจำนวน 17 คน ดังมีรายชื่อต่อไปนี้[ต้องการอ้างอิง]
นับตั้งแต่ปี 2528 เจ้าหญิงแห่งเวลส์เริ่มปฏิบัติพระกรณียกิจงานด้านการกุศลมากมาย อาทิ การเสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลต่างๆ เสด็จเยี่ยมโรงเรียนเวสต์ฮีธที่เคยศึกษา ทรงเริ่มให้ความสนพระทัยกิจกรรมอาสาสมัครอย่างจริงจัง เห็นได้จากการเสด็จเยี่ยมผู้ป่วยโรคเอดส์และโรคเรื้อน ซึ่งไม่เคยมีเชื้อพระวงศ์พระองค์ใดปฏิบัติมาก่อน นอกจากนี้เจ้าหญิงยังได้ดำรงตำแหน่งผู้อุปถัมภ์องค์การกุศลเพื่อคนไร้บ้าน เด็ก ผู้ติดยา และผู้สูงอายุ รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็กเกรทออร์มันด์สตรีท และยังร่วมสนับสนุนนโยบายการต่อต้านการใช้กับระเบิด และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปลายปี 2540 หลังจากสิ้นพระชนม์
เดือนเมษายน พ.ศ. 2530 ภาพถ่ายเจ้าหญิงขณะทรงสัมผัสผู้ป่วยโรคเอดส์[ต้องการอ้างอิง] ช่วยทำให้สังคมเปลี่ยนมุมมองต่อผู้ป่วยเอดส์ และยังสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ป่วยเองอีกด้วย คำปราศรัยของประธานาธิบดี บิล คลินตัน ซึ่งกล่าวถึงเจ้าหญิงในปี พ.ศ. 2530 มีใจความว่า
เมื่อปี 2530 ผู้คนมากมายเชื่อว่าโรคเอดส์สามารถติดต่อกันได้โดยผ่านการสัมผัส แต่เจ้าหญิงไดอานากลับทรงนั่งบนเตียงเพื่อกุมมือผู้ป่วยเอดส์คนหนึ่ง พระองค์ได้แสดงให้สังคมโลกรู้ว่าผู้ป่วยเอดส์ไม่สมควรที่ถูกลืม แต่ควรได้รับความรักความอาทร นี่นับเป็นการปฏิวัติความเชื่อเดิมๆ ของชาวโลกและให้ความหวังแก่ผู้ป่วย[ต้องการอ้างอิง]
มกราคม 2540 ไดอานาเสด็จเยือนพื้นที่ทุ่นระเบิด ภาพถ่ายพระองค์ในชุดหน้ากากป้องกันสะเก็ดระเบิดถูกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนทั่วโลก พระกรณียกิจนี้กลายเป็นที่วิพากย์วิจารณ์ว่าพระองค์กำลังข้องเกี่ยวกับการเมืองมากเกินความจำเป็น เดือนสิงหาคม 2540 ไม่กี่สัปดาห์ก่อนสิ้นพระชนม์ พระองค์เสด็จไปประเทศบอสเนีย และได้เย่ยมเยียนเครือข่ายผู้รอดชีวิตจากกับระเบิดในกรุงซาราเจโว ไดอานาให้ความสนใจในเรื่องกับระเบิดเพราะทุ่นระเบิดส่งผลอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต
แม้สิ้นพระชนม์แล้ว แต่พระกรณียกิจด้านการต่อต้านทุ่นระเบิดส่งผลให้นานาชาติร่วมลงนามในอนุสัญญาออตตาวาเมื่อเดือนธันวาคม 2540 อนุสัญญาออตตาวมีจุดประสงค์เพื่อห้ามการใช้ทุ่นระเบิด พิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันทุ่นระเบิดฉบับที่ 2 ในรัฐสภาอังกฤษ นายโรบิน คุก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ กล่าวสุนทรพจน์ต่อความทุ่มเทของไดอานาในการรณรงค์นี้ว่า
สมาชิกผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย ท่านคงทราบแล้วว่าเบื้องหลังแรงผลักดันการร่างกฎหมายฉบับนี้มาจากพระอุปถัมภ์ของไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ซึ่งพระองค์ได้เผยเรารับรู้ถึงผลร้ายแรงจากการใช้กับระเบิด วิธีการที่ดีที่สุดในการระลึกถึงภารกิจนี้ของพระองค์รวมทั้งองค์การต่างๆ ที่ได้รณรงค์ต่อต้านทุ่นระเบิดคือการผ่านพระราชบัญญัตินี้และเปิดหนทางสู่การหยุดใช้ทุ่นระเบิดทั่วโลก
องค์การสหประชาชาติได้ส่งคำร้องไปยังชาติที่ผลิตทุ่นระเบิดจำนวนมหาศาล ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย เกาหลีเหนือ ปากีสถาน และรัสเซีย เพื่อร่วมลงนามในอนุสัญญาออตตาวา คาโรล เบลลามี ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า "ทุ่นระเบิดยังคงเป็นสิ่งล่อใจที่อันตรายตามธรรมชาติของเด็กที่อยากรู้อยากเห็น กับระเบิดทำให้เด็กผู้ไร้เดียงสาได้รับอันตรายถึงชีวิต"
ต้นปี 2533 ชีวิตสมรสระหว่างเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์เริ่มสั่นคลอน สื่อมวลชนต่างพุ่งความสนใจมายังประเด็นนี้ ข่าวความรักที่เริ่มจิดจางถูกนำเสนอและข่าวอื้อฉาวก็แพร่ไปทั่วโลก เมื่อชาลส์และไดอานาต่างกล่าวหากันว่าเป็นตัวการทำให้ชีวิตคู่ล้มเหลว รักร้าวระหว่างเจ้าชายและเจ้าหญิงเริ่มต้นขึ้นระหว่างปี 2528 -2529 เมื่อชาลส์กับไปสานสัมพันธ์กับคนรักเก่า นางคามิลลา (ต่อมาเป็นภรรยาของแอนดริว ปาร์กเกอร์-โบวส์) เรื่องนี้ถูกนำมาตีพิมพ์ลงในหนังสือ Diana: Her True Story เขียนโดยแอนดริว มอร์ตัน วางจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม 2535 เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือเผยชีวิตส่วนตัวของไดอานาที่เผชิญหน้ากับชีวิตแต่งงานที่ไร้ซึ่งความสุข และพยายามปลงพระชนม์ชีพถึง 5 ครั้ง เพราะความกดดันทั้งในชีวิตแต่งงานและจากสาธารณชนที่จ้องจับผิด[ต้องการอ้างอิง]
เรื่องฉาวยังคงดำเนินต่อไปเมื่อหนังสือพิมพ์เดอะซัน ฉบับเดือนสิงหาคม 2535 ตีพิมพ์บทสนทนาที่ถอดความจากเทปดักฟังทางโทรศัพท์ระหว่างเจ้าหญิงไดอานากับเจมส์ กิลบี้ เรื่องราวนี้ถูกเรียกว่า "Squidgygate–สควิดจี้เกต" ซึ่งคำว่า สคิวดจี้นี้เป็นชื่อเล่นที่กิลบี้ใช้เรียกไดอานาอย่างรักใคร่ อีก 3 เดือนต่อมาเทปบันทึกการสนทนาความสัมพันธ์ลึกซึ้งทางโทรศัพท์ระหว่างเจ้าชายชาลส์กับนางคามิลลาถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ทูเดย์และเดอะมิเรอร์ กลายเป็นคดี "คามิลลา–Camillagate"
ในช่วงปี 2537 มีข่าวลือว่าเจ้าหญิงไดอานามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับอดีตครูสอนขี่ม้า เจมส์ ฮิววิตต์ และเรื่องนี้ถูกบอกเล่าจากปากของฮิววิตต์และนำมาตีพิมพ์ลงในหนังสือ Princess in love เมื่อปี 2537 แต่ในการสัมภาษณ์ผ่านรายการพาโนรามาในปี 2538 ไดอานากล่าวว่าแอนนา พาสเตอร์แนคนั้นเขียนหนังสือเล่มดังกล่าวผ่านจินตนาการ[ต้องการอ้างอิง]
ธันวาคม 2535 จอห์น เมเจอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษแถลงที่สภาคอมมอนส์ เรื่องการแยกกันอยู่ระหว่างเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ในเดือมกราคม 2536 บทถอดความจากบทสนทนาทางโทรศัพท์ฉบับเต็มจากคดี "คามิลลาเกต" ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ทุกสำนักในอังกฤษ
3 ธันวาคม 2536 ไดอานาประกาศถอนตัวจากกิจกรรมสาธาณชนอย่างไม่มีกำหนด เจ้าชายชาลส์ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์กับโจนาธาน ดัมเบิลบลีเมื่อ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2537 และทรงยอมรับถึงสัมพันธ์รักระหว่างพระองค์กับนางคามิลลาจริง แต่พระองค์กลับไปคบหาเธอเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในปี 2529 หลังชีวิตสมรสของพระองค์กับเจ้าหญิงไดอานาพังทลาย
ไดอานาเชื่อว่าคามิลลา เป็นตัวการที่ทำให้ชีวิตคู่ของพระองค์ล่มสลาย นอกจากนี้พระองค์ยังสังเกตข้อพิรุธหลายอย่างบ่งชี้พระสวามีไปมีความสัมพันธ์กับหญิงรายอื่น จากจดหมายส่วนตัวของเไดอานาที่เขียนถึงพระสหาย ใจความว่า "ชาลส์กำลังไปติดพันหญิงอีกคน เธอคือ ทิกก์ เล็จจ์-เบิร์ก และต้องการสมรสใหม่กับคนนี้" เล็จจ์-เบิร์กคือพี่เลี้ยงที่เจ้าชายชาลส์ทรงจ้างมาดูแลพระโอรสเมื่อเสด็จประทับในสก็อตแลนด์ ทันทีที่รับทราบว่าพระสวามีจ้างหญิงพี่เลี้ยงคนดังกล่าว ไดอานาก็ยิ่งทรงรู้สึกขุ่นเคืองใจอย่างยิ่ง
ไดอานาให้สัมภาษณ์ผ่านรายการพาโนรามาทางสถานีโทรทัศน์ BBC โดยมีนายมาร์ติน บาเชียร์ เป็นพิธีกร และถูกออกอากาศในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2538 ในการให้สัมภาษณ์ไดอานาพูดถึงเจมส์ ฮิววิตต์ ว่า "ใช่ ฉันรักเขา ฉันหลงรักเขา" อ้างถึงคามิลลาในประโยค "มีคนสามคนอยู่ในชีวิตสมรสนี้" เธอพูดถึงตัวเองว่า "ฉันปรารถนาที่จะเป็นราชินีในหัวใจของประชาชน" และพูดถึงความเหมาะสมของเจ้าชายชาลส์ขึ้นครองราชย์ว่า "รู้สึกได้ว่าหน้าที่นี้ยิ่งใหญ่นัก บทบาทใหม่จะนำข้อจำกัดมากมายมาสู่พระองค์ และฉันไม่ทราบว่าพระองค์จะปรับตัวให้เข้ากับตำแหน่งนี้ได้อย่างไร"
ธันวาคม 2538 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชสาส์นไปถึงเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ทรงแนะนำให้ทั้งสองพระองค์หย่าขาดกันอย่างเป็นทางการ หลังจากไดอานาเปิดเผยชีวิตส่วนตัวอันอย่างหมดเปลือกผ่านรายการโทรทัศน์ และภายหลังที่ไดอานากล่าวหา ทิกก์ เล็จจ์-เบิร์ก ว่าไปทำแท้งเด็กที่เกิดกับเจ้าชายชาลส์ หลังจากที่เล็จจ์-เบิร์กส่งปีเตอร์ คาร์เตอร์ให้มาแสดงความขอโทษต่อไดอานา ซึ่ง 2 วันก่อนเรื่องแดง เลขานุการของไดอานา แพทริก เจฟสัน ตัดสินใจลาออกและเขียนโน้ตสั้นทิ้งไว้ว่า "(ไดอานา)พึงพอใจที่สามารถกล่าวหาว่าเล็จจ์-เบิร์กไปรีดเด็กที่เกิดจากชาลส์"20 ธันวาคม 2538 สำนักพระรางวังบักกิ้งแฮมออกแถลงการณ์เรื่อง สมเด็จพระราชินีมีพระราชสาส์นถึงเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์เพื่อทรงแนะนำให้ทั้งสองหย่าขาดกันอย่างเป็นทางการ โดยมีนายกรัฐมนตรี คณะองคมนตรีอาวุโส และสถานีโทรทัศน์ BBC เป็นผู้สนับสนุนสมเด็จพระราชินีให้ทรงออกมาชี้ขาดเรื่องนี้ หลังได้ปรึกษาหารือมานานกว่าสองสัปดาห์ เจ้าชายชาลส์ตอบตกลงทันที
กุมภาพันธ์ 2539 ไดอานาตอบตกลงหย่าหลังจากได้เจรจากับเจ้าชายชาลส์และตัวแทนของสมเด็จพระราชินี ไดอานาสร้างความขุ่นเคืองให้แก่ราชสำนักอีกครั้งเมื่อเธอต้องการให้สำนักพระราชวังบักกิ้งแฮมออกแถลงการณ์ยอมรับการหย่าขาดจากเจ้าชายและเงื่อนไขอื่นๆ ที่เธอจะได้รับหลังการหย่า โดยหย่าขาดเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 28 สิงหาคม 2539 หลังการหย่า ไดอานาได้รับค่าเลี้ยงดูราว 17 ล้านปอนด์จากอดีตพระสวามี และไม่กี่วันก่อนการหย่าเสร็จสมบูรณ์สำนักพระราชวังได้ประกาศให้ไดอานาพ้นจากสถานะชายาของเจ้าชายแห่งเวลส์ สูญเสียอิสริยศชั้นเจ้าฟ้า (Her Royal Highness) คงใช้แต่เพียงพระนาม ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์
อย่างไรก็ตามสำนักพระราชวังบักกิ้งแฮมยืนยันว่า ไดอานายังคงเป็นสมาชิกของพระราชวงศ์ในฐานะพระมารดาของรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ หลังการหย่าร้างและในการพิจารณาคดีมรณกรรมของไดอานา ไดอานายังคงถือว่าเป็นสมาชิกราชวงศ์อยู่ แม้ว่าสิ้นพระชนม์แล้วก็ตาม
หลังการหย่าขาดจากเจ้าชายชาลส์ ไดอานาได้รับห้องชุดผั่งทิศเหนือของพระราชวังเคนซิงตันเพิ่มเป็นสองชุด ซึ่งครั้งหนึ่งเคยพำนักร่วมกับพระสวามีในปีแรกของการเสกสมรส พระองค์พำนักอยู่ห้องชุดภายในพระราชวังเคนซิงตันตลอดพระชนม์ชีพ
ไดอานาพบรักครั้งใหม่กับศัลยแพทย์ทรวงอก ฮาสนัท ข่าน ที่เจลุม ประเทศปากีสถาน เพื่อนสนิทของเธอเรียกว่า "ความรักที่แท้จริงในชีวิต" ความสัมพันธ์ครั้งนี้ถูกปิดเป็นความลับยาวนาน 2 ปี หลังโดนสื่อพาดเปิดโปงเความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง
ฮัสนัท ข่านมาจากครอบครัวชาวมุสลิมในปากีสถานที่เขาถูกคาดหวังให้แต่งงานกับหญิงมุสลิมที่เหมาะสม ความสัมพันธ์ระหว่างฮัสนัทกับไดอานากลายเป็นปัญหามากเกินไปสำหรับเขาไม่เพียงแต่เรื่องศาสนาเท่านั้น
จากการให้การของฮัสนัท ข่าน หนึ่งในพยานคดีมรณกรรมของไดอานา โดยให้การว่า ไดอานาเป็นคนบอกเลิกความสัมพันธ์ครั้งนี้เอง หลังการนัดพบกันครั้งสุดท้ายเมื่อกลางดืกของคืนวันหนึ่งที่ไฮด์ปาร์กซึ่งเชื่อมต่อกับลานพระราชวังเคนซิงตันในเดือนมิถุนายน 2540[ต้องการอ้างอิง]
เดือนเดียวกันไดอานามีรักครั้งใหม่กับโดดี อัล ฟาเยด ลูกชายของมหาเศรษฐี โมฮัมหมัด อัล ฟาเยด เจ้าของเรือยอทช์ที่พาเธอไปพักผ่อนในฤดูร้อนนั้น ในตอนแรกไดอานามีแผนที่จะพาพระโอรสไปพักร้อนที่เกาะลองส์ไอส์แลนด์ นิวยอร์ก แต่สำนักราชองค์รักษ์ได้ยับยั้งแผนการนี้เสียก่อน และหลังจากที่ตัดสินใจเลื่อนการเดินทางมาที่ประเทศไทยไปเป็นเดือนพฤศจิกายน ไดอานาตอบรับคำเชิญของครอบครัวฟาเยดเพื่อไปร่วมล่องเรือยอชท์ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ฝรั่งเศสตอนใต้ สำนักงานราชองครักษ์ยินยอมให้ไดอานาร่วมพักร้อนกับครอบครัวนี้เพราะได้แจ้งรายละเอียดการรักษาความปลอดภัยสูงบนเรือยอทช์มายังสำนักงานก่อนแล้ว
หลังจากเรือยอชท์ที่เพิ่งกลับจากล่องทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเทียบฝั่งที่ฝรั่งเศส ไดอานาและโดดี ฟาเยด เดินทางต่อไปที่กรุงปารีส เพื่อหยุดพักค้างคืนที่อพาร์ตเมนต์ของโดดีก่อนที่จะกลับลอนดอนในต้นเดือนกันยายน เที่ยงคืนวันที่ 31 สิงหาคม 2540 ไดอานาและโดดีออกจากโรงแรมริทซ์โดยถูกช่างภาพอิสระรุมติดตามเพื่อถ่ายภาพ รถยนต์ที่ทั้งคู่นั่งมาได้เร่งความเร็วเพื่อหลบหนีการไล่ตามของบรรดาช่างภาพ จนมาถึงถนนลอดอุโมงค์ปองต์ เดอ ลัลมา ที่มีความลาดชันสูง รถเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่ขับมาด้วยความเร็วสูง และนายอองรี พอลคนขับไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้เพราะมีอาการมึนเมา รถยนต์จึงพุ่งชนคอนกรีตกลางถนนอย่างจังและหักเลี้ยวอย่างกะทันหัน เพียงไม่กี่นาที่รถเบนซ์ W140 คันงามก็กลายเป็นเศษเหล็กและเกิดควันไฟจากแรงระเบิดเป็นเหตุนายอองรี ปอลคนขับและนายโดดี ฟาเยดเสียชีวิตทันที ไดอานาได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายแห่งภายในทรวงอก และสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลปีเต-ซัลแปร์ติแยร์ ชานกรุงปารีส ในเวลา 3.57 น. โดยแพทย์ได้ทำการช่วยชีวิตจนสุดความสามารถ นายเทรเวอร์ รีส์-โจนส์ องครักษ์ของนายโดดีเป็นผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวจากอุบัติเหตุ
พิธีศพของพระองค์มีขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 กันยายน 2540 ที่มหาวิหารเวสมินสเตอร์ โดยมีผู้รับชมการถ่ายทอดสดพิธีศพผ่านดาวเทียมมากกว่าหลายร้อยล้านคนทั่วโลก[ต้องการอ้างอิง]
ในตอนแรก หน่วยสืบสวนฝรั่งเศสสรุปว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากความประมาทของนายอองรี ปอล ที่สูญเสียความสามารถในการควบคุมยานพาหนะ พ่อของโดดี นายโมฮัมหมัด อัล ฟาเยด (เจ้ากิจการโรงแรมริทซ์ปารีส นายจ้างของอองรี ปอล) ออกมายืนยันในปี 2542 ว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นแผนลอบสังหารเจ้าหญิง ตามคำสั่งของหน่วยข่าวกรอง MI6 แห่งอังกฤษ และพระบัญชาของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินเบอระ
คดีมรณกรรมของไดอานาถูกนำมาไต่สวนใหม่ในศาลอังกฤษอีกครั้งช่วงระหว่างปี 2547-2550 สุดท้ายแล้วคดีนี้ถูกสรุปว่าเป็นผลจากความประมาทที่เห็นได้ชัดจากการขับขี่ของอองรี ปอลที่เร่งความเร็วของรถยนต์เพื่อหลบหนีการไล่ตามของเหล่าช่างภาพ ไม่กี่วันต่อมานายโมฮัมหมัด ฟาเยด ประกาศยุติการต่อสู้คดีมรณกรรมที่ยาวนานกว่า 10 ปี เพราะเห็นแก่พระโอรสทั้งสองของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ผู้ล่วงลับ
การจากไปอย่างกะทันหันของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ผู้ทรงเสน่ห์สร้างความโศกเศร้าสะเทือนใจให้กับชาวโลก บุคคลสำคัญในหลายประเทศได้ส่งสาส์นแสดงความอาลัยมายังสหราชอาณาจักร ลานหน้าพระราชวังเคนซิงตันอันเคยเป็นที่พักของพระองค์ก็คลาคล่ำไปด้วยดอกไม้ เทียน การ์ดแสดงความอาลัย และจดหมายนานหลายเดือน
พิธีศพของไดอานาถูกจัดขึ้นที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ในวันที่ 6 กันยายน 2540 ซึ่งก่อนหน้านี่ไม่กี่วัน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้มีพระราชดำรัสแสดงความเสียพระราชหฤทัยจากไปของไดอานาที่ถ่ายทอดสดจากพระราชวังบักกิ้งแฮม
พระโอรสทั้งสองของเจ้าหญิงไดอานา เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายเฮนรี่ ได้ร่วมเสด็จตามขบวนพระศพของพระมารดา พร้อมด้วยเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินเบอระและชาลส์ สเปนเซอร์ เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 9 พระอนุชา และเซอร์เอลตัน จอห์น ได้ร้องเพลง Candle in the wind เพื่อบรรเลงถวายอาลัยแก่ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ในงานพระศพ
หลังไดอาน่าเสียชีวิตไปแล้ว ได้มีการเปิดพินัยกรรมในวันที่ 2 มีนาคม ปีถัดมา ซึ่งสาระสำคัญของพินัยกรรมมีดังนี้
ผู้พิทักษ์ของไดอาน่ามีทรัพย์สินรวมมูลค่าทั้งหมดประมาณ 35,600,000 ดอลลาร์ ซึ่งหลังจากจ่ายภาษีแล้วจะเหลือประมาณ 21,300,000 ดอลลาร์ พระองค์โปรดให้แบ่งทรัพย์สินประทานให้แก่ลูกเลี้ยงของพระองค์ทั้ง 17 คนก่อน คนละ 82,000 ดอลลาร์ และให้นายพอล เบอร์เรล มหาดเล็กต้นห้องของพระองค์ 80,000 ดอลลาร์ ทรัพย์ที่เหลือนั้น ให้เก็บรักษาไว้จนกว่าเจ้าชายแฮร์รี่จะมีพระชนม์ 25 พรรษา (และหากว่าทรัสต์มีผลกำไรงอกเงยขึ้นมา) ให้แบ่ง(ทั้งเงินต้นและกำไรของผู้พิทักษ์) เป็นสองส่วนเท่าๆ กัน ประทานแก่พระโอรสทั้งสอง[ต้องการอ้างอิง]
ทั้งนี้พระโอรสทั้งสองพระองค์ และลูกทูนหัวทั้ง 17 คน จะต้องมีชีวิตอยู่หลังจากพระองค์เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3 เดือนจึงจะได้สิทธิ์รับมรดกตามที่ระบุในพินัยกรรม
ทันที่มีการรายงานข่าวการเสียชีวิตของไดอานา ทั่วทุกมุมโลกต่างแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์นี้ ในที่สาธารณะ ประชาชนนำช่อดอกไม้และสิ่งของอื่นๆ เพื่อไว้อาลัยไปวางไว้ที่หน้าพระราชวังเคนซิงตันที่ถูกกองดอกไม้ขนาดมหึมาล้อมรอบ ก่อสร้างอนุสรณ์สถานถาวรเพิ่มเติมอีกหลายแห่ง ดังนี้
นอกจากนี้ยังมีอีก 2 อนุสรณ์ที่ไม่เป็นทางการที่ตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์ ซึ่งนายโมฮัมหมัด ฟาเยดเป็นเจ้าของ ชิ้นแรกคือรูปถ่ายของไดอานากับโดดีตั้งอยู่เบื้องหลัง ทรงปิรามิดที่บรรจุแก้วไวน์เปื้อนลิปสติกของไดอานาในระหว่างอาหารมื้อเย็นมื้อสุดท้ายและแหวนที่นายโดดีเพิ่งซื้อให้เจ้าหญิงเมื่อไม่นานก่อนที่จะเสียชีวิต และอีกชิ้นถูกจัดโชว์ในปี 2548 เป็นรูปหล่อทองแดงของนายโดดีที่กำลังเต้นรำกับไดอานาบนชายหาดภายใต้ปีกของนกอัลบาทรอส ใต้ฐานของรูปหล่อมีป้ายจารึกไว้ว่า "Innocent Victim" (เหยื่อผู้บริสุทธิ์) และยังมีอนุสรณ์ที่ไม่เป็นทางการในนครปารีสที่ปลาซ เดอ ลัลมา เป็นที่รู้จักในชื่อ เปลวไฟแห่งเสรีภาพ ถูกนำมาติดตั้งในปี 2542
ตั้งแต่เสียชีวิตไป ชื่อของไดอานาปรากฏอยู่ในผลงานศิลปะมากมายที่อ้างอิงถึงแผนการลอบสังหาร ความเห็นใจต่อชีวิตของไดอานาและการตกเป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย
กรกฎาคม 2540 เทรซี่ย์ เอมิน สร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์ขาวดำที่อิงกับชีวิตจริงของไดอานา ในชุดผลงาน Temple of Diana จัดแสดงในเดอะบลูแกลเลอรี่ที่ลอนดอน เช่นผลงาน They want you to be destroyed (2538) เป็นผลงานที่กล่าวถึงอาการป่วยด้วยโรคบูลิเมียของไดอานา เอมินยืนยันว่า ผลงานภาพศิลปะของเธอนั่นชวนให้รู้สึกสะเทือนอารมณ์และไม่ได้เป็นการเยาะเย้ยถากถางอะไรเลย
ในปี 2548 ผลงานภาพยนตร์ของมาร์ติน ซาสเตรอ Diana : The Rose Conspiracy ถูกฉายในงานเทศกาลหนังเมืองเวนิซ เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นว่าชาวโลกได้ค้นพบไดอานายังมีชีวิตอยู่และสนุกสนานกับชีวิตใหม่ที่ถูกปิดเป็นความลับในสลัมชานมอนเตวิเดโอ ซึ่งถ่ายทำที่ชุมชนแออัดอุรุกวัยสถานที่จริงและได้นักแสดงที่เป็นเจ้าหญิงไดอานาตัวปลอมจากเซาเปาโล ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกคัดเลือกให้เป็นผลงานภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์ศิลปะอิตาลี
ในปี 2550 มีการจัดแสดงผลงานทางศิลปะของสเตลลา ไวน์ ถือเป็นการแสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรกในโมเดิร์นอาร์ตอ็อกฟอร์ดแกลเลอรี่ โดยเป็นงานศิลปะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแผนลอบสังหารไดอานา ซึ่งศิลปินได้ผสมผสานความเข้มแข็งและความอ่อนแอในบุคลิกของไดอานา รวมทั้งความผูกพันใกล้ชิดกับพระโอรส ในชื่อ Diana Branches, Diana Family Picnic, Diana Veil, & Dian Pram
นับตั้งแต่ประกาศหมั้นกับเจ้าชายแห่งเวลส์เมื่อ 29 กรกฎาคม 2524 จนกระทั่งประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในเดือนสิงหาคมปี 2540 ไดอานากลายเป็นบุคคลสำคัญของโลกและถูกระบุว่ากลายเป็นสตรีที่ถูกถ่ายรูปมากที่สุดในโลก พระองค์เป็นที่จดจำจากสไตล์การแต่งตัว ความสามารถพิเศษในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่เสแสร้ง แต่ทรงแสดงออกมาจากใจจริง และความทุ่มเทในงานด้านการกุศล และชีวิตสมรสที่ไม่ราบรื่นกับเจ้าชายชาลส์
เชื่อกันว่าไดอานาเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของแอนดริว มอร์ตันเพื่อใช้ในการเขียนหนังสือ Diana: Her True Story ที่ตีแผ่เรื่องราวของตัวเธอที่ไม่พึงปรารถนาจากราชวงศ์วินด์เซอร์ ความกดดันในชีวิตสมรส ในหนังสือเล่มนี้อ้างว่าไดอานาพยายามทำร้ายตัวเอง ด้วยการกระโดดจากบันไดในพระราชวังเพราะเจ้าชายชาลส์หนีพระองค์ไปขี่ม้าและไม่ความสนใจแก่เธอ ทิน่า บราวน์ ให้ความเห็นว่าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่การพยายามฆ่าตัวตาย ไดอานาคงไม่มีเจตนาที่จะทำอันตรายกับพระกุมารในครรภ์ และมีราชองครักษ์คนหนึ่งกล่าวว่า ไดอานาแค่ลื่นล้มโดยอุบัติเหตุ และผู้แวดล้อมในเหตุการณ์นี้ก็เล่าว่านี่เป็นเพียงอุบัติเหตุเท่านั้น
นักประวัติศาสตร์ราชวงศ์ ซาราห์ แบรดฟอร์ดให้ความเห็นว่า วิธีการเดียวที่จะเยียวยาจิตใจที่ทุกข์ทรมานของไดอานาคือความรักจากเจ้าชายชาลส์ที่ไดอานาโหยหาแต่กลับถูกปฏิเสธอยู่ตลอดเวลา พระองค์ทอดทิ้งเธอ หาวิธีการต่างๆ มาทำให้ตัวพระชายารู้สึกไม่คุณค่าพอสำหรับพระองค์ พระองค์เย็นชาต่อเธอ ทำให้จิตใจและร่างกายของเธออ่อนแอจนสิ้นหวัง ความเห็นนี้ตรงกับที่ไดอานาเคยพูดถึงพระสวามีว่า "สามีของฉันพยายามทำให้ฉันรู้สึก[ดี]ไม่เพียงพอในทุกๆ อย่างเท่าที่เขาจะทำได้ เมื่อฉันกำลังรู้สึกดี แต่อีกเดี๋ยวเขาก็ทำให้ฉันกลับมาเศร้าใจอีกครั้ง"
ไดอานาทรงยอมรับว่าได้เผชิญกับความกดดัน เช่น การทำร้ายตัวเอง อาการของโรคบูลิเมียที่กำเริบอยู่บ่อยๆ ตลอดช่วงวัยผู้ใหญ่ของเธอ เมื่อยังเด็กไดอานาก็เคยได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจจากพ่อแม่ตั้งแต่การมีปากเสียงกันอย่างรุนแรงบ่อยครั้งจนถึงการหย่าร้าง เธอและน้องชายไม่เคยได้รับความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ แต่ถูกเลี้ยงดูโดยพี่เลี้ยง ทำให้เป็นปมในวัยผู้ใหญ่ที่ทั้งสองคนพี่น้องอยากเลี้ยงลูกเองมากกว่า และไม่จ้างพี่เลี้ยงเหมือนกับที่พ่อแม่เคยทำ ไดอานาไม่ชอบพูดความจริง นักจิตวิทยาบอกว่าเป็นผลมาจากครอบครัวที่แตกร้าวในวัยเด็ก และพัฒนาให้เธอมีอาการบุคลิกสองขั้ว
ปี 2550 ทิน่า บราวน์ เขียนหนังสือประวัติของไดอานา โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวถึงพระองค์ว่า "กระวนกระวายใจและคลั่งไคล้กับการจับจ่ายสินค้าหรูหรามากจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ไดอานาถูกครอบงำด้วยภาพลักษณ์ในสังคมจนกลายเป็นคนวิกลจริตจากสื่อมวลชนที่เจตนาร้าย เจ้าเล่ห์แกมโกง สื่อยุ่งเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของเธอจนกลายเป็นเรื่องละลาบละล้วง" และเธอให้ความเห็นอีกด้วยว่า "เจ้าชายชาลส์ อภิเสกสมรสกับไดอานาเพื่อผลประโยชน์ของพระองค์เอง ไดอานาไปมีความรักหวานชื่นกับโดดี ฟาเยด ทำให้ราชสำนักเกิดความโกรธเกรี้ยว เหตุผลที่เป็นไปได้คือ เธอต้องการแก้แค้นกับสิ่งโหดร้ายที่เกิดขึ้นในวังที่เธอเคยได้รับ แต่ไม่มีทางที่ไดอานาจะสมรสใหม่กับชายมุสลิมผู้นี้"
สำหรับพระนามและพระอิสริยยศเต็มๆ ของพระองค์นับตั้งแต่พระราชพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายชาลส์จนถึงการหย่าร้าง คือ
หลังจากสิ้นพระชนม์ ประชาชนทั่วไปยังคงนิยมเอ่ยพระนามของพระองค์ว่า "เจ้าหญิงไดอานา" ซึ่งเป็นอิสริยศที่พระองค์ไม่เคยได้รับหลังจากการหย่าร้าง ส่วนสื่อมวลชนเรียกพระองค์ว่า "เลดี้ไดอานา สเปนเซอร์" หรือ ชื่อเล่นที่สื่อมวลชนตั้งให้พระองค์ "เลดี้ได" (ตามธรรมเนียมของชาวตะวันตกนั้น นิยมกล่าวชื่อของสตรีที่เสียชีวิตด้วย ชื่อและสกุลเดิมก่อนแต่งงาน) และฉายา "เจ้าหญิงของประชาชน" ที่นายโทนี่ แบลร์ อ้างถีงพระองค์ระหว่างการกล่าวคำไว้อาลัยในพิธีพระศพของไดอานา
ไดอานามีเชื้อสายของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 จากบรรพบุรุษทางฝ่ายพ่อ ผ่านโอรสนอกสมรสทั้ง 4 คน ดังนี้[ต้องการอ้างอิง]
นอกจากนี้แล้ว เธอยังสืบเชื้อสายจากพระเจ้าเจมส์ที่ 2 กับชายาลับของพระองค์ อราเบลลา เชอร์ชิล ผ่านทางธิดานอกสมรส เฮ็นริเอ็ตต้า ฟิทซ์เจมส์[ต้องการอ้างอิง] เชื้อสายฝั่งแม่ของไดอานามีเชื้อสายอังกฤษ-ไอริช
ตระกูลสเปนเซอร์นั้นจัดว่าเป็นตระกูลขุนนางชั้นสูงที่มีความใกล้ชิดกับราชวงศ์มายาวนานหลายศตวรรษ และเคยรับใช้เบื้องพระยุคลบาทมาตั้งแต่คริสตวรรษที่ 17 ยายของไดอานาหรือ รูธ ร็อฌ บารอนเนสเฟอร์มอยเป็นพระสหายและนางสนองพระโอษฐ์ของสมเด็จพระราชชนนีเอลิซาเบธ โบวส์ ลีออน และพ่อของไดอานายังเคยเป็นทหารองครักษ์ของพระเจ้าจอร์จที่ 6 และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มาก่อน
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/ไดอานา_เจ้าหญิงแห่งเวลส์